วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ Green Productivity


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ Green Productivity


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community (AEC) จะมีผลในปี 2558 นี้    เรื่องของ Green Productivity จะเข้ามามีส่วนในการสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพราะจะเป็นกรอบที่ทำให้ผู้ผลิตที่อยู่ในประชาคมอาเซียนต้องมีการปรับกระบวนการผลิต เพื่อให้ทั้งกระบวนการเป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

สำหรับประเทศไทยหากเข้าสู่การค้าเสรีอาเซียน (AEC)แล้ว จะส่งผลดีต่อผู้ผลิตในประเทศไทย หลายด้านเช่น การลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและแรงงานจากต่างประเทศ เปิดโอกาสในการส่งออกสินค้าไปขายยังหลายๆประเทศในอาเซียน แต่ผลกระทบในอีกด้านหนึ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม ได้แก่ ผลจากการลดภาษีนำเข้า ทำให้สินค้าของประเทศในอาเซียนที่จะเข้ามาขายในประเทศไทยจะมีราคาถูกลง การแข่งขันจะสูงขึ้น และมีโอกาสที่ผู้ผลิตบางรายอาจมีการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นในอาเซียนที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าของประเทศไทย  ดังนั้นผู้ผลิตของไทยต้องมีความพร้อมของความสามารถในการแข่งขัน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพจากการลดต้นทุน ผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ลดการสูญเสีย และมีคุณภาพการผลิตที่ดี วัตถุดิบที่ดี กระบวนการการผลิตที่ดีด้วย ซึ่งภาครัฐจะต้องให้การส่งเสริมภาคเอกชนให้สามารถพัฒนาตนเองได้

แนวโน้มกระแสสีเขียวเป็นแนวทางการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน  การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวโน้มที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแนวความคิดของความยั่งยืนจะส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้บริโภคในยุคปัจจบันให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น องค์กรหรือธุรกิจสีเขียวหลายแห่งได้ผนวกเอาแนวคิด Green เข้าไปประยุกต์ใช้ในทุกกระบวนการในห่วงโซ่คุณค่า นับตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ การจัดซื้อสีเขียว บรรจุภัณฑ์สีเขียว การตลาดสีเขียว การขนส่งสีเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ใหม่ สอดคล้องกับแนวคิดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบจนกระทั่งหมดอายุการใช้งาน 
ดังนั้นประเทศไทย ควรนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น Eco Design การออกแบบเพื่อความยั่งยืน ลดการใช้วัตถุดิบ และทรัพยากร เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ พยายามใช้ทรัพยากรจากท้องถิ่น ลดการขนส่ง ใช้สารเคมีให้น้อยลง หรือไม่ใช่เลย มีการนำส่วนที่เสียไป Recycle ได้ และท้ายที่สุด การออกแบบ ที่คำนึงถึงผลกระทบ ต่อวัตถุดิบ โดยดูทั้งวงจรของสินค้า ตั้งแต่ ผลิต – ใช้งาน – การกำจัด
              ด้านอุตสาหกรรมอาหาร​ไทยต้อง​เป็น​เลิศ​ใน​การผลิต​และ​การรักษาระบบ Green Productivity ​เพื่อ​การผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ​โครง​การยกระดับ​การ​แข่งขันอุตสาหกรรมอาหาร​ไทยด้วย​การลดต้นทุน​และ​เป็น มิตรต่อสิ่ง​แวดล้อม ​เพิ่มประสิทธิภาพ​การผลิตสินค้าอาหารคุณภาพด้วย Supply Chain Management  ด้านผู้ประกอบการระบบโลจิสติก ที่ต้องขนส่งสินค้าในและระหว่างประเทศ AEC ใช้แนวทางการขนส่งแบบสีเขียวที่เน้นการใช้ เชื้อเพลิงที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมเช่น การใช้รถเชื้อเพลิงแบตเตอรี่ รถเชื่อเพลิงก๊าซธรรมชาติอัด (NGV) หรือรถใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ หรือ E100 เป็นต้น นอกจากนั้นต้องปรับการบริหารจัดการให้ลดการขนส่งวิ่งรถเปล่าในขากลับ รวมไปถึงการใช้รถ Eco-car, Hybrid car หรือ Electric car ให้เหมาะสมกับการขนส่งแต่ละประเภท ทั้งในโรงงานและนอกโรงงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ               
รัฐบาล ควรให้ความสำคัญกับนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายส่งเสริมการประหยัดอนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมธุรกิจสีเขียว การผลิตสินค้าเกษตรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการผลิตสินค้าที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อช่วยสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจสีเขียว มีนโยบายภาษี มาตรการอุดหนุนภาครัฐ นโยบายต่อพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เป็นต้น
:จารีนทร์  เอี่ยมสุภาษิต

Green Productivity กับ ผู้ประกอบการไทย


ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ เห็นความสำคัญของ Green Productivity



ต้องมีการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Green Productivity โดยสื่อสารให้เห็นว่า GP นั้นไม่ได้สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ แต่จะเป็นกลยุทธ์ของผู้ประกอบการในการเพิ่มผลผลิตและการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม โดยการนำเอาเทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสม มาใช้เพื่อการผลิตสินค้าและการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มผลกำไรให้แก่สถานประกอบการ จากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการรักษาสภาพแวดล้อมไปพร้อมๆกัน ต้องชี้ให้เห็นว่า GP ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจใหม่ แต่เป็นเรื่องเสมือนแนวความคิดในการบริหารจัดการและมีการเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการบริหารจัดการที่เรามีการใช้อยู่บ่อยๆ แล้ว รวมไปถึงมีการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมาช่วยเสริมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการเพิ่มผลผลิตโดยรวม หรืออาจกล่าวได้ว่า  GP เป็น Tools ใน Tools box หรือกล่องที่มีเครื่องมือสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการเพิ่มผลผลิตโดยไม่ทำลายและรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตโดย GP จะเน้นขั้นตอนในการแก้ไขปัญหา โดยจะมีแนวทางที่เหมาะสมและพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในและตลาดต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบริหารต้นทุนให้ต่ำ และต้องปฎิบัติตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการส่งออกที่กำลังประสบปัญหากฎระเบียบที่เข้มงวดจากประเทศผู้นำเข้า นอกจากนั้นยังมีกระแสตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคที่เป็นตัวกดดันอีกด้วย

จารีนทร์  เอี่ยมสุภาษิต